• ข้อมูลมันสำปะหลัง

    กำลังปรับปรุงข้อมูล

                   มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญพืชหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่ใช้เป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต ถ้าพิจารณาจากปริมาณการผลิตพืชอาหารทั่วโลกมันสำปะหลังอยู่ในอันดับที่ 5 รองมาจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวและมันฝรั่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศในเขตร้อน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ซึ่งปลูกมันสำปะหลังเพื่อใช้ในการบริโภคโดยตรง ปริมาณการผลิตของมันสำปะหลังทั่วโลกประมาณสองในสามส่วนใช้เป็นอาหารมนุษย์ที่เหลือใช้เลี้ยงสัตว์และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

    มันสำปะหลัง เป็นพืชมีดอก เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ขยายพันธุ์โดยการปักชำลำต้นซึ่งตัดเป็นท่อนสั้นๆ พืชนี้มีรากพองออกเป็นหัว เพื่อเก็บสะสมอาหารจำพวกแป้ง ชอบขึ้นในที่ซึ่งมีอากาศร้อน เป็นที่ดอนน้ำท่อมไม่ถึง มันสำปะ หลังมีโรคและศัตรูพืชน้อย ปลูกได้ตลอดปี ให้ผลผลิตเร็ว และเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งของคนและสัตว์ ปัจจุบัน ประเทศ ไทยเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เพราะมีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมที่จะปลูกมันสำปะหลัง แต่เนื่องจาก คนไทยไม่ได้รับประทานมันสำปะหลังเป็นอาหารหลัก จึงสามารถส่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในลักษณะเป็นแป้งมัน มันเส้น และมันอัดเม็ด เป็นสินค้าออกจำหน่ายได้มากที่สุดในโลก

    ลักษณะทางพฤษศาสตร์

    • ราก มันสำปะหลังมีรากน้อยและอยู่ไม่ลึกจากผิวดิน มีราก 2 ชนิด คือ รากจริงและรากสะสมอาหาร ที่เรียกกันทั่วไปว่า หัว มีปริมาณแป้งประมาณ 15 – 40% มีกรดไฮโดรไซยานิก ( HCN) หรือกรดพรัสซิก ( prussic acid) ซึ่งมีพิษ จะมีอยู่มากในส่วนของเปลือกมากกว่าเนื้อของหัว การแช่น้ำ การต้ม จะทำให้กรดระเหยไปได้
    • ลำต้น มีลักษณะเป็นข้อๆ ซึ่งเป็นรอยที่ก้านใบร่วงหลุดไป สีของลำต้นส่วนยอดจะเป็นสีเขียวส่วนทางด้านล่างอาจมีสีน้ำตาล หรือสีม่วงแดงขึ้นอยู่กับพันธุ์
    • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบแยกเป็นแฉกคล้ายใบปาล์มมีสีเขียว ก้านใบอาจมีสีเขียวหรือสีแดง บางพันธุ์ใบจะมีสีเหลืองหรือขาว หรือใบด่าง ที่ใช้เป็นไม้ประดับ
    • ดอก มันสำปะหลังมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ทางส่วนปลายของช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกตัวเมีย มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีเหลืองหรือมีลายแดง ผลและเมล็ด ในแต่ละผลจะมี 3 เมล็ด เมล็ดจะมีสีเทาหรือลายจุดดำ
  • พันธุ์มันสำปะหลัง

    ชนิดของมันสำปะหลัง

    • พันธุ์ที่ใช้ประดับ นิยมปลูกตามบ้านเพื่อความสวยงาม เนื่องจากใบมีแถบสีขาวและเหลืองกระจายไปตามความยาวของใบจึงเรียกว่า ``มันด่าง``
    • พันธุ์ชนิดหวาน พันธุ์นี้จะใช้หัวเป็นอาหารมนุษย์โดยเชื่อม ต้ม ปิ้ง หรือเผา ไม่มีรสขมเนื่องจากมีปริมาณ HCN ต่ำ ที่พบในบ้านเรามี 3 พันธุ์ ได้แก่ มันสวน มันห้านาทีหรือก้านแดงและระยอง 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงขึ้นมาใช้สำหรับทอดเป็นแผ่นบางเช่นเดียวกับ potato chips
    • พันธุ์ชนิดขม เป็นมันสำปะหลังที่มีรถขม ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของมนุษย์หรือใช้หัวสดเลี้ยงสัตว์โดยตรง เนื่องจากมีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคสูง มีความเป็นพิษต่อร่างกาย ต้องนำไปแปรรูปเป็นแป้งมัน มันอัดเม็ด หรือมันเส้นแล้วจึงนำไปเลี้ยงสัตว์ได้

    มันด่าง

    พันธุ์มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทษไทย
    1. พันธุ์ระยอง 1

    ลักษณะเด่น: ผลผลิตสูง ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ กัน
    ลักษณะด้อย: ปริมาณแป้งต่ำ
    ฤดูปลูกที่เหมาะสม: ต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ปลายฤดูฝน เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม

    2. พันธุ์ระยอง 2
    ลักษณะเด่น: ผลผลิตหัวสดสูงเฉลี่ย 4,161 กิโลกรัมต่อไร่ เนื้อมันสด เนื้อหัวสีเหลือง เนื้อเหนียว เหมาะสำหรับบริโภคและเป็นอาหารสัตว์ ต้านทานต่อโรคใบไหม้ปานกลาง
    ลักษณะด้อย: ไม่เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากปริมาณแป้งต่ำ คุณภาพของหัวขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
    ฤดูปลูกที่เหมาะสม: ฤดูฝนเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

    3. พันธุ์ระยอง 3
    ลักษณะเด่น: ให้ผลผลิตมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ตอบสนองต่อปุ๋ย และความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง
    ลักษณะด้อย: ท่อนพันธุ์เสื่อมความงอกเร็ว แตกกิ่งต่ำยากแก่การกำจัดวัชพืช
    ฤดูปลูกที่เหมาะสม: ต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ปลายฤดูฝนเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม

    4. พันธุ์ระยอง 5
    ลักษณะเด่น: ผลผลิตหัวสดสูง 4,420 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตแป้งสูง 1,027 กิโลกรัมต่อไร่ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีมีความงอกดีและอยู่รอดถึงการเก็บเกี่ยว ต้านทานโรคใบไหม้ปานกลาง
    ลักษณะด้อย: ท่อนพันธุ์เสื่อมความงอกเร็ว
    ฤดูปลูกที่เหมาะสม: ต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน

    5. ระยอง 9
    ลักษณะเด่น: ให้ผลผลิตเอทานอลสูงทุกอายุเก็บเกี่ยว ทรงต้นดี สูงตรง ได้ต้นพันธุ์ยาวขยายพันธุ์ได้มาก อัตราขยายพันธุ์สูงกว่า 1: 8 เป็นโรคใบพุ่มน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐานทุกพันธุ์
    ลักษณะด้อย: ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 1 ปี เนื่องจากสายพันธุ์ระยอง 9 มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงแต่สะสมน้ำหนักช้า ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วจะให้ผลผลิตหัวสดต่ำกว่าพันธุ์มาตรฐานอื่นๆ
    พื้นที่แนะนำ: ปลูกได้ทั่วไปทั้งในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศักยภาพในการให้ผลผลิตขึ้นกับศักยภาพของพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน และการดูแลรักษา

    6. ระยอง 60
    ลักษณะเด่น: ต้นสูง มีจำนวนลำต้น 2-4 ลำต่อหลุม อัตราการขยายพันธุ์สูง ให้ผลผลิตดีแม้ว่าจะเก็บเกี่ยวที่อายุ 8 – 10 เดือน
    ลักษณะด้อย: ปริมาณแป้งไม่สูง และเนื้อในของหัวมีสีขาวครีม
    ฤดูปลูกที่เหมาะสม: ต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ปลายฤดูฝน เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม

    7. ระยอง 90
    ลักษณะเด่น: ผลผลิตและแป้งสูง ตอบสนองต่อปุ๋ยและความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง
    ลักษณะด้อย: ลำต้นโค้ง หากมีการแตกกิ่งจำทำให้มีการดูแลรักษายาก ต้นพันธุ์เสื่อมคุณภาพเร็ว
    ฤดูปลูกที่เหมาะสม:  ต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

    8. พันธุ์ระยอง 72
    ลักษณะเด่น: ทรงต้นสูงตรง แตกกิ่งน้อย ท่อนพันธุ์แข็งแรง ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลผลิตสูงในทุกสภาพแวดล้อม และสูงมากในสภาพแวดล้อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    ลักษณะด้อย: ถ้าปลูกในเขตภาคตะวันออกจะให้เปอร์เซ็นต์แป้งที่ต่ำ เวลาขุดหัวหักง่าย
    พื้นที่แนะนำ: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ให้ผลผลิตหัวสดและคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์แนะนำอื่นๆ ปลูกได้ทั้งต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน

    9. พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50
    ลักษณะเด่น: เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตหัวสด และเปอร์เซนต์แป้งสูง สามารถปลูกได้ทั่วประเทศ งอกดี ลำต้นสูงใหญ่ หัวดก และหัวมีลักษณะเป็นกลุ่ม
    ลักษณะด้อย: ในสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ จะมีการแตกกิ่งต่ำทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา
    ฤดูปลูกที่เหมาะสม: ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน

  • การเตรียมดินปลูกมันสำปะหลัง

    รอบรู้เรื่องดินก่อนปลูกมันสำปะหลัง

    การเตรียมดิน
                  การเตรียมดิน มันสำปะหลังเป็นพืชหัวผลผลิตที่ใช้ประโยชน์คือรากที่มีการสะสมอาหารจำพวกแห้งจนขยายใหญ่ขึ้นเป็นหัวอยู่ในดิน การเลือกพื้นที่ปลูกควรเลือกที่ดอน ดินเป็นดินร่วนปนทราย ถ้าเป็นดินเหนียวต้องมีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง และต้องมีหน้าดินลึกพอสมควร ก่อนปลูกควรไถและพรวนอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ลึก 20-30  เซนติเมตร เพื่อกลบเศษซากพืชจากฤดูก่อนและทำลายวัชพืชต่างๆ ให้ลดจำนวนลง การไถด้วยผาน 3 ติดท้ายรถแทรกเตอร์ 1 ครั้ง ตามด้วยพรวนจาน 7 ผาน อีก 1 ครั้ง จะได้ผลผลิตมันสำปะหลังและกำไรสูงสุด ถ้าพื้นที่มีความลาดเทต้องไถตามแนวขวาง เพื่อป้องกันการชะล้างพังทะลายของดินและถ้าดินระบายน้ำได้ดีต้องยกร่องปลูก

    การเตรียมท่อนพันธุ์
                  ใช้ท่อนพันธุ์มันที่สด อายุ 10-12 เดือน ตัดทิ้งไว้ไม่เกินประมาณ 15 วัน โดยตัดให้มีความยาวประมาณ 20 ซม. มีตาไม่น้อยกว่า 5 ตา เพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง ควรจุ่มท่อนพันธุ์ในยาแคปแทน 1.6 ขีด (160 กรัม) ผสมร่วมกับมาลาไธออน 20 ซีซี ในน้ำ 20 ลิตร ประมาณ 5 นาที ก่อนปลูก

  • วิธีการปลูกและระยะปลูก

    การปลูกแบบปัก

    • ใช้ท่อนพันธุ์ปักลงในดินให้ลึกประมาณครึ่งท่อนของความยาว ควรระวังอย่าปักส่วนยอดลงดินเพราะตาจะไม่งอก
    • การปักตรง 90 องศา หรือปักเฉียง 45 องศากับพื้นดินให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน
    • ปลูกเป็นแถวแนวตรง เพื่อสะดวกในการบำรุงรักษาและกำจัดวัชพืช โดยใช้ระยะระหว่างแถว 1.20 เมตร ระยะระหว่างต้น 80 ซม.

    ระยะปลูก

    • ระยะปลูกมันสำปะหลังสามารถปลูกได้ตั้งแต่ ระยะ 60x60 เซนติเมตร จนถึง 120x120 เซนติเมตร โดยระยะ 100x100 เซนติเมตร จะมีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงกว่าระยะอื่นๆ แต่ถ้าหากเกษตรกรมีการใช้เครื่องทุ่นแรง ระยะปลูกระหว่าง แถวxต้น อาจใช้ 120x 80 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการใช้เครื่องทุ่นแรง
  • การดูแลรักษา

    การใส่ปุ๋ย
    — ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้กับมันสำปะหลัง ได้แก่ปุ๋ยสูตร 8-8-8 อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยสูตร 16-16-16 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ วิธีใส่ปุ๋ยนั้นเริ่มใส่เมื่อมันสำปะหลังมีอายุ 1 เดือน ใส่หลังจากที่กำจัดวัชพืชครั้งแรกแล้ว โดยใช้ปุ๋ยโรยเป็นแถวห่างจากโคนต้นประมาณ 6 นิ้วแล้วพรวนดินกลบ
    — การใส่ปุ๋ยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดนั้น จะช่วยให้ดินอุ้มน้ำ และระบายน้ำและอากาศดีขึ้น แต่การใช้ปุ๋ยอินทรียวัตถุต้องใส่ปุ๋ยในอัตราสูง เช่น จำนวน 1 ตันต่อไร่ หรือมากกว่านี้ เพราะปุ๋ยอินทรียวัตถุมีธาตุอาหารน้อย และต้องใส่ปุ๋ยก่อนปลูก แล้วไถกลบลงไปในดิน

    การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีกล

    • การใช้จอบถาก เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังไม่มากนัก ใช้แรงงานในครอบครัว ควรเริ่มทำครั้งแรกภายใน 1 เดือน
    • การใช้แรงงานสัตว์ โดยใช้วัวหรือควายติดไถหัวหมูพรวนดินระหว่างแถวมันสำปะหลัง
    • การใช้เครื่องจักรพรวน ระหว่างร่องจะทำได้ในขณะมันสำปะหลังยังเล็ก (1-2 เดือนหลังปลูก)

    การควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมี

    • การใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชแบบก่อนงอก หรือบางทีเรียกว่า สารคุมหรือยาคุม(กำเนิด)
    • การใช้สารเคมีคุมวัชพืชแบบหลังงอกหรือเรียกว่า การใช้สารฆ่าหรือยาฆ่าหญ้า
  • โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

    โรคและการป้องกันกำจัด

    โรคใบไหม้
    ลักษณะอาการ: 
    ใบเริ่มเป็นจุดเหลี่ยมฉ่ำน้ำจนถึงอาการไหม้บางส่วนหรืออาจไหม้ทั้งกิ่ง ถ้ารุนแรงจะมียางไหล ลำต้นแห้งตาย มักพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน
    การป้องกันกำจัด:
    – ใช้พันธุ์ระยอง 60 หรือระยอง 90 ซึ่งต้านทานโรค
    – ไม่ใช้ท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค

    โรคใบจุดสีน้ำตาล
    ลักษณะอาการ: อาการที่พบจะเป็นจุดที่ใบโดยเฉพาะใบแก่ รอยแผลจะเป็นเหลี่ยมตามเส้นใบมีขอบชัดเจน สีเหลืองตรงกลางแผลจะแห้ง โรคนี้พบได้ในทุกพันธุ์ โรคนี้ทำให้ผลผลิตลดลง 14-20 เปอร์เซ็นต์
    การป้องกันกำจัด: การป้องกันกำจัดโดยใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช

    ไรแดง
    ลักษณะอาการ: จะพบตัวไรแดง มีใยสีขาวบางๆ ปกคลุมอยู่ใต้ใบ ถ้าระบาดรุนแรงใบส่วนยอดจะงองุ้มและใบส่วนล่างจะร่วงหมด
    การป้องกันกำจัด:
    – หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังกระทบสภาพความแห้งแล้งในขณะที่ต้นมันสำปะหลังยังเล็กอยู่
    – เก็บส่วนของพืชที่มีไรแดงอยู่ไปเผาทำลายทิ้ง

    เพลี้ยแป้ง
    ลักษณะอาการ: ต้นแคระแกรน ช่วงข้อสั้น ใบร่วง ยอดแห้ง มักพบการระบาดในต้นมันสำปะหลังที่โตแล้ว ซึ่งไม่กระทบต่อผลผลิต แต่จะทำความเสียหายให้แก่ท่อนพันธุ์
    การป้องกันกำจัด:  ถ้าพบต้องตัดต้นไปทำลาย การใช้สารกำจัดแมลงมักไม่คุ้มค่า

  • การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

    วิธีการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

    ใช้แรงงานคน
    โดยทำการตัดต้นมันให้เหลือส่วนล่างของลำต้นไว้ประมาณ 30-70 เซนติเมตร จากนั้นขุดหัวมันขึ้นมาด้วยจอบหรือใช้วิธีถอนในกรณีที่ดินมีความชื้นสูง นำมาสับเหง้าออกและขนส่งไปยังโรงงานเพื่อแปรสภาพ ไม่ควรกองทิ้งไว้ในไร่เพราะมันสำปะหลังจะเน่าเสียได้

    ใช้เครื่องทุ่นแรง
    ในจังหวัดที่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานสูง จะมีการใช้เครื่องทุ่นแรงติดท้ายรถแทรกเตอร์ทำการพลิกหน้าดินเพื่อให้หัวมันสำปะหลังหลุดจากดิน จากนั้นจึงใช้แรงงานคนเดินตามเพื่อตัดหัวมันออกจากเหง้า และขนส่งไปยังโรงงานเพื่อแปรสภาพต่อไป

ส่งเสริมเกษตร (songsermkased)
  • 772/5-6 ถ.แจ้งสนิท(บ้านไผ่-บรบือ) ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 40110
  • 043-306244 , แฟกซ์ 043-306245