• ข้อมูลข้าวโพด

    ข้าวโพดเป็นธัญพืชสำคัญอย่างหนึ่งของโลก  รองจากข้าวเจ้าและข้าวสาลี นับเป็นพืชอาหารหลักที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง  ในต่างประเทศ เช่น  เม็กซิโก อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ประชาชนรับประทานข้าวโพดเป็นอาหารประจำวัน ในรูปต่าง ๆ  กัน  นอกจากใช้เป็นอาหารมนุษย์ และสัตว์โดยตรงแล้ว เมล็ดข้าวโพดและส่วนอื่น ๆ เช่น ต้น ใบและซัง ยังใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมได้หลายชนิด เมล็ด  อาจนำมาสกัดน้ำมัน น้ำตาล และทำแป้ง  น้ำตาลที่สกัดจากเมล็ดใช้ทำสารเคมี วัตถุระเบิด สีย้อมผ้า แป้ง  ใช้ทำสบู่ หมึก กาว น้ำมัน นอกจากใช้รับประทานแล้ว ยังใช้ทำสีทาบ้าน ยาขัดเงา ลำต้นและใบใช้ทำกระดาษ  กระดาษอัด  ซังใช้ทำจุกขวด กล้องยาสูบและเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ ซึ่งใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบ มีประมาณกว่า ๕๐๐ ชนิด  สำหรับในประเทศไทย ข้าวโพดที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ การใช้ข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์มีน้อย

    ประเทศไทยมีการปลูกข้าวโพดมาช้านานแต่ปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  เพิ่งจะเริ่มปลูกกันอย่างจริงจังเมื่อยี่สิบกว่าปีมานี้เอง  และปริมาณการผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ผลิตผลทั้งประเทศมีเพียง ๓.๗๓ ตัน  แต่ในปี  พ.ศ. ๒๕๒๖  เพิ่ม
    ขึ้นเป็น  ๓.๘๘  ล้านตัน ทั้งนี้เนื่องจากตลาดต่างประเทศต้องการมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์  มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี ๒๕๒๕ คิดเป็นมูลค่าส่งออก ๖,๓๕๕ ล้านบาท ในปัจจุบันข้าวโพดได้เลื่อนอันดับจากพืชที่ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  มาเป็นพืชที่มีความสำคัญใกล้เคียงกับข้าวเจ้าและยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญเก่าแก่ของประเทศไทยมาช้านาน

    สำหรับในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่า  ข้าวโพดสามารถปลูกได้ดีทุกภาค จังหวัดที่ผลิตข้าวโพดมากในแต่ละภาค เรียงตามปริมาณการผลิตมากไปหาน้อย  ดังนี้

    • ภาคกลาง มี เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครสวรรค์ สระบุรี พิษณุโลก พิจิตร  สุโขทัย และปราจีนบุรี
    • ภาคเหนือ มี แพร่ น่าน เชียงราย และเชียงใหม่
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มี นครราชสีมา ศรีสะเกษ  อุบลราชธานี ขอนแก่น และชัยภูมิ
    • ภาคใต้ ปลูกมากที่ สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

    แหล่งที่มา : http://guru.sanook.com/326/

  • ชนิดของข้าวโพด

    ข้าวโพดอาจจำแนกออกได้เป็น 2 แบบ คือ
    1. การจำแนกทางพฤกษศาสตร์
    การจำแนกแบบนี้ถือเอาลักษณะของแป้ง และเปลือกหุ้มเมล็ดเป็นหลัก จำแนกออกเป็น 7 ชนิด คือ

    1. ข้าวโพดหัวบุบ (dent corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อินเดนทาทา (Zea mays indentata) เมล็ดตอนบนมีรอยบุ๋ม เนื่องจากตอนบนมีแป้งอ่อน และตอนข้างๆ เป็นแป้งชนิดแข็ง เมื่อตากเมล็ดให้แห้งแป้งอ่อนจะยุบหดตัวลง จึงเกิดลักษณะหัวบุบดังกล่าว ขนาดของลำต้น ความสูง เหมือนข้าวไร่ทั่วๆ ไป สีของเมล็ดอาจเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีอื่นๆ แล้วแต่พันธุ์ นิยมปลูกกันมากในสหรัฐอเมริกา

    2. ข้าวโพดหัวแข็ง (flint corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมยส์ อินดูราทา (Zea mays in durata) เมล็ดมีแป้งแข็งห่อหุ้มโดยรอบ หัวเรียบไม่บุบเมล็ดค่อนข้างกลม มีปลูกกันมากในเอเชีย และอเมริกาใต้ ข้าวโพดไร่ของคนไทย มีนิยมปลูกกัยอยู่ เป็นชนิดนี้ทั้งสิ้น สีของเมล็ดอาจเป็นสีขาว สีเหลือง สีม่วง หรือสีอื่นแล้วแต่ชนิดของพันธุ์

    3. ข้าวโพดหวาน (sweet corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส แซคคาราทา (Zea mays saccharata) นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพื่อรับประทานฝักสด เพราะฝักมีน้ำตาลมาก ทำให้มีรสหวาน เมื่อแก่เต็มที่หรือแห้ง เมล็ดจะหดตัวเหี่ยวย่น

    4. ข้าวโพดคั่ว (pop corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อีเวอร์ทา (Zea mays everta) เมล็ดมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีแป้งประเภทแข็งอยู่ใน ภายนอกห่อหุ้มด้วยเยื่อที่เหนียว และยืดตัวได้ เมล็ดมีความชื้นภายในอยู่พอสมควร เมื่อถูกความร้อน จะเกิดแรงดันภายในเมล็ดระเบิดตัวออกมา เมล็ดอาจมีลักษณะกลมหรือหัวแหลมก็ได้ มีสีต่างๆ กัน เช่น เหลือง ขาว ม่วง

    5. ข้าวโพดข้าวเหนียว (Waxy corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส เซอราตินา Zea mays ceratina แป้งอ่อนคล้ายแป้งมันสำปะหลัง นิยมปลูกเพื่อรับประทานฝักดูคล้ายข้าวโพดหวาน แม้จะไม่หวานมากแต่เมล็ดนิ่มรสอร่อยไม่ติดฟัน เมล็ดมีสีต่าง ๆ กัน เช่น เหลือง ขาว ส้ม ม่วง หรือ หลายสีในฝักเดียวกัน (ปัจจุบันมีข้าวโพดหวาน 2 สี ขายฝักละ 5 – 20 บาท)

    6. ข้าวโพดแป้ง (Flour corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อมิโลเซีย Zea mays amylocea เมล็ดประกอบด้วยแป้งชนิดอ่อนมาก เมล็ดค่อนข้างกลม หัวไม่บุบ หรือบุบเล็กน้อย นิยมปลูกในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และสหรัฐอเมริกา ชาวอินเดียนแดงนิยมปลูกไว้รับประทานเป็นอาหาร

    7. ข้าวโพดป่า (Pod corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส ทูนิกา Zea mays tunica
    มีลักษณะใกล้เคียงข้าวโพดพันธุ์ป่ามีลำต้นเล็กฝักเล็กกว่าข้าวโพดธรรมดา เมล็ดขนาดค่อนข้างเล็กเท่า ๆ กับเมล็ดข้าวโพดคั่วมีเปลือกหุ้มทุกเมล็ด และยังมีเปลือกหุ้มฝัก (Husk) อีกชั้นหนึ่งเหมือนข้าวโพดธรรมดาทั่ว ๆ ไป เมล็ดมีลักษณะต่าง ๆ กัน ข้าวโพดชนิดนี้ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปลูกไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

    ข้าวโพดหัวบุบ
    ข้าวโพดหัวแข็ง
    ข้าวโพดหวาน
    ข้าวโพดคั่ว
    ข้าวโพดข้าวเหนียว
    ข้าวโพดแป้ง
    ข้าวโพดป่า

    2. การจำแนกตามวัตถุประสงค์ของการปลูก จำแนกออกได้เป็น 4 ชนิด คือ

    1.ข้าวโพดใช้เมล็ด (Grain corn) ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดแก่ใช้เป็นอาหารสัตว์ และมนุษย์ หรือทำอุตสาหกรรม เมล็ดพันธุ์ (Seed)

    2. ข้าวโพดหมัก (Silage corn) ปลูกเพื่อตัดต้นสดมาหมักใช้เป็นอาหารสัตว์

    3. ข้าวโพดอาหารสัตว์ (Fodder corn) ปลูกเพื่อตัดทั้งต้นสดไปใช้เลี้ยงสัตว์

    4. ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ในประเทศไทยนิยมปลูกเพื่อเก็บฝักอ่อนไปใช้ในการปรุงอาหารและอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง

    แหล่งที่มา : www.rid.go.th/attatch_branch/qcorn.html

    ข้าวโพดใช้เมล็ด
    ข้าวโพดหมัก
    ข้าวโพดอาหารสัตว์
    ข้าวโพดฝักอ่อน
  • การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ฤดุกาลปลูกที่เหมาะสม)

    • ต้นฤดูฝน ปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนมิถุนายน ตามสภาพฝนแต่ละพื้นที่
    • ปลายฤดูฝน ปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม
    • ฤดูแล้ง ปลูกได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์

     

    แหล่งที่มา : www.pioneer.com/web/site/thailand/resources/indiv-tech-sheets/

  • การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (การเตรียมดิน)

    รอบรู้เรื่องดินก่อนปลูกข้าวโพด

    วัตถุประสงค์ของการเตรียมดิน เพื่อให้ผิวดินอ่อนตัว และห่อหุ้มเมล็ดข้าวโพดให้ชื้นอยู่เสมอ และให้ดินมีอากาศถ่ายเทสะดวก และทำลายเหง้าวัชพืชให้แห้งตายและฝังกลบซากวัชพืชเดิมให้จมดิน การไถพรวนควรไถอย่างน้อย 2 ครั้ง ภายใต้หลักการ ไถดะให้ลึก ไถแปรให้ดินแตกละเอียด

    1. 1. ไถดะ การไถด้วยผาน 3 หรือผาน 4 ควรไถให้ลึกประมาณ 30 ซม.เพราะการไถลึก จะทำให้ดินเก็บน้ำได้มาก และตากดินไว้ประมาณ 10-15 วัน เพื่อทำลายวัชพืชและศัตรูพืชในดินบางชนิด
    2. 2. ไถแปร ควรไถด้วยผาน 7 โดยไถขวางรอยเดิมของไถดะเพื่อย่อยดินก้อนใหญ่ให้แตก ทำให้ดินมีความร่วนซุยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เมล็ดพันธุ์งอกได้อย่างสม่ำเสมอ

     

    แหล่งที่มา : www.pioneer.com/web/site/thailand/resources/indiv-tech-sheets/

  • การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (การปลูก)

    การปลูกและระยะปลูก ทำได้ 2 วิธี ดังนี้

    1. 1. ใช้เครื่องปลูก เลือกรูจานหยอดให้เหมาะกับขนาดของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะระบุไว้ที่ถุง โดยทั่วไปจะใช้ระยะห่างระหว่างแถว 75 ซม. ระยะระหว่างหลุมประมาณ 20-25 ซม. โดยปริมาณเมล็ดที่ใช้จะประมาณ 3-3.5 กก./ไร่ และ จะมีจำนวนต้นข้าวโพด/ไร่ ประมาณ 8,533-10,600 ต้นต่อไร่ ควรหยอดเมล็ดข้าวโพดให้ลึก 2.5-3 นิ้ว
    2. 2. ใช้คนปลูก ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคเหนือ จะใช้เชือกในการกำหนดระยะให้มีระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 70 ซม. แล้วใช้จอบขุด หยอดเมล็ด 1-2 เมล็ดแล้วกลบ โดยจำนวนเมล็ดที่หยอดและระยะห่างระหว่างหลุม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ว่า สายพันธุ์นั้นเหมาะกับการปลูกถี่ได้ดีเพียงใด

     

     

    แหล่งที่มา : www.pioneer.com/web/site/thailand/resources/indiv-tech-sheets/

  • การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (การดูแล)

    เคล็ดไม่ลับ:

    • – การทดสอบความชื้นของดินว่าเพียงพอหรือไม่ ให้นำดินที่ระดับความลึกที่ใช้หยอดเมล็ดจริงมาปั้น หากปั้นเป็นก้อนได้แสดงว่าความชื้อพอเหมาะ
    • – ควรทำการทดสอบเครื่องหยอด, รูจานหยอด กับเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกจริง ว่าได้ตามระยะที่ต้องการหรือเปล่า ถ้าหากถี่หรือห่างเกินไป จะได้เปลี่ยนจานที่มีจำนวนรูจานตามต้องการ
    • – ความลึกในการหยอดเมล็ด ขึ้นอยู่กับความชื้น, ประเภทของดิน รวมถึงประสบการณ์ของเจ้าของแปลงซึ่งโดยทั้วไป หยอดลึกไม่เกิน 4-5 ซม.

    1. การใส่ปุ๋ย แบ่งได้ 2 ครั้ง เพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอกับการสร้างผลผลิตได้เต็มที่ ดังนี้

    1. 2. ปุ๋ยรองพื้น ควรใส่รองก้นหลุม หรือโรยเป็นแถวแล้วกลบพร้อมปลูก ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 ในปริมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่
    2. ปุ๋ยยูเรีย เมื่อข้าวโพดมีอายุ 25-30 วัน ควรมีการใส่ปุ๋ยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ในปริมาณ 20-25 กิโลกรัม/ไร่

    ข้อแนะนำ ควรใส่ปุ๋ยพร้อมกับการกำจัดศัตรูพืชเมื่อข้าวโพดอายุได้ 20-35 วัน หรือสูงแค่เข่า โดยใส่แบบโรยข้างแถวให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 1 คืบ แล้วใช้ดินกลบ

    การใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับดิน

    ดินเหนียวสีดำ  ถ้ามีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์สูงกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 50กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่  โดยโรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน ถ้าฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่ำกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-0 อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 21-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน  แล้วพรวนดิน

    ดินเหนียวสีดำ  ถ้ามีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์สูงกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 50กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่  โดยโรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วันถ้าฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่ำกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-0 อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 21-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน  แล้วพรวนดินกลบ

    ดินเหนียวสีแดง ดินเหนียวสีน้ำตาล หรือดินร่วนเหนียวสีน้ำตาล  ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 หรือ 16-16-8อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และให้ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา10 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ

    ดินร่วน หรือดินร่วนทราย  ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 หรือสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ

    ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ผลผลิตข้าวโพดทุก ๆ 100 กิโลกรัมจะสูญเสียธาตุอาหารหลักไปกับเมล็ด คือ ไนโตรเจน 1.59 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 0.38 กิโลกรัม โพแทสเซียม 0.51 กิโลกรัม ส่วนตอซังจะสูญเสีย ไนโตรเจน 0.77กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 0.11 กิโลกรัม โพแทสเซียม 1.62 กิโลกรัม ดังนั้นจึงไม่ควรเผาต้นหรือนำตอซังไปทิ้ง ควรไถกลบลงดินเป็นปุ๋ยพืชสด

    การกำจัดวัชพืช

    ช่วงวิกฤตที่ข้าวโพดอ่อนแอต่อวัชพืชที่สุดคือระยะ 13-25 วัน หลังงอก ระยะนี้ถ้ามีวัชพืชรบกวนจะทำให้ผลผลิต ข้าวโพดเสียหายสูงสุด ดังนั้นการปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตสูง จึงต้องให้แปลงปลอดวัชพืช ตลอดช่วง 1 เดือนแรกตั้งแต่ปลูก โดยเลือกวิธีการกำจัดวัชพืชที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ดังนี้

    1. 1. การไถและพรวนดิน ก่อนปลูกข้าวโพด โดยไถและพรวนดินหลังวัชพืชงอก จะช่วยทำลายกล้าวัชพืชให้ตายได้ ส่วนกล้าและเหง้าวัชพืชที่ตายยาก ควรตากดินนาน 10-15 วัน เพื่อให้วัชพืชตาย ก่อนปลูกข้าวโพด
    2. 2. การทำรุ่น เป็นการพรวนดิน ดายหญ้า หลังข้าวโพดงอกแล้วแต่ก่อนจะถึง ระยะวิกฤตโดยใช้เครื่องมือกลต่าง ๆ เช่น จอบ ไถ รถไถและรถแทรกเตอร์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การใช้ไถพูนโคนมักมีวัชพืช ในแถวหลงเหลืออยู่จึงต้องใช้ขอบดายตามอีกครั้ง
    3. 3. การใช้สารเคมี อาจใช้ทันทีหลังปลูกข้าวโพดหรือพ่นกำจัดวัชพืชหลังข้าวโพดและวัชพืชงอกแล้ว การใช้สารเคมีเป็นวิธีที่สะดวกและประหยัด แต่ต้องระมัดระวังเพราะอาจเป็นอันตรายต่อคน พืชอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อม ควรฉีดพ่นขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ สารเคมีที่แนะนำมีดังนี้

    อาทราซีน 80 ในอัตรา 375-750 กรัม  ผสมน้ำ 60-80 ลิตร/ไร่ผสมอะลาคลอร์ 500-750 ซีซี ผสมน้ำ 60-80 ลิตร พ่นในพื้นที่ 1 ไร่   ในขณะที่ดินมีความชื้นใช้ก่อนข้าวโพดงอก (และก่อนหญ้างอกหรือหญ้างอกต้นเล็กไม่เกิน 3 ใบ) ถ้าเป็นดินเหนียวให้ใช้เพิ่มขึ้นอีก ใช้ควบคุมวัชพืชใบกว้างและใบแคบได้ดีเป็นพิษต่อผักและพืชตระกูลถั่ว ดังนั้นถ้าจะปลูกถั่วตามหลังข้าวโพด ไม่ควรใช้อาทราซีนและอะลาคลอร์ ใช้ฉีดพ่นวัชพืชก่อนข้าวโพดงอก ใช้อัตรา 500-1,000 ซีซี/ไร่ กำจัดวัชพืชใบแคบได้ดี เป็นพิษต่อข้าวฟ่าง ดังนั้นถ้าจะปลูกข้าวฟ่างตามหลังข้าวโพด ไม่ควรใช้อะลาคลอร์

    หมายเหตุ การใช้สารกำจัดวัชพืช จะได้ผลดีถ้าปฏิบัติถูกต้อง แต่มีข้อควรระวัง คือ ต้องผสมน้ำและฉีดพ่นขณะที่ดินยังชื้นอยู่ และไม่แนะนำให้ปลูกข้าวฟ่างตามหลังข้าวโพด เพราะทั้ง 2 พืชมีระบบรากคล้ายกันและใช้ธาตุอาหารคล้ายกัน ดินจะเสื่อมเร็ว ควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น

    ความต้องการน้ำของข้าวโพด  

    ข้าวโพดมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูปลูก ประมาณ 350-600 มิลลิเมตร

    1. การใช้น้ำครั้งแรกเมื่อปลูก หลังจากไถพรวนเตรียมแปลงเสร็จ ให้น้ำประมาณ 30-40 มิลลิเมตร เพื่อให้ดินมีความชื้นพองอก
    2. การให้น้ำในช่วงระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพดควรให้สัปดาห์ละประมาณ 40-50 มิลลิเมตร ไม่ควรให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ข้าวโพดเหลืองแคระแกร็น ผลผลิตลด และอาจตายได้ ถ้าให้น้ำมากเกินไปควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงทันที

    ข้าวโพด เป็นพืชที่ต้องการน้ำตลอดอายุการเจริญเติบโตแต่ความต้องการน้ำจะสูงสุด ในช่วงออกดอกและช่วงระยะต้นของการสร้างเมล็ด ถ้าหากขาดน้ำ

    • ในช่วงระยะการเจริญทางลำต้นและใบ ผลผลิตจะลดลง 25%
    • ในช่วงระยะออกดอกตัวผู้-ออกไหม-เริ่มสร้างเมล็ดผลผลิตจะลดลง 50%
    • ในช่วงระยะหลังการสร้างเมล็ดเสร็จ ผลผลิตจะลดลง 21%

     

     

    แหล่งที่มา : www.pioneer.com/web/site/thailand/resources/indiv-tech-sheets/

  • การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (การเก็บเกี่ยว)

    ควรเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัดและเก็บในช่วงที่อากาศแห้ง ถ้ามีฝนตกควรงดการเก็บเกี่ยวเพราะฝักจะเน่าได้ง่ายไม่ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดก่อนกำหนด แต่ถ้าต้องการพื้นที่เพื่อปลูกพืชรุ่น 2 ก็สามารถตัดยอดข้าวโพดออก ปล่อยให้ฝักข้าวโพดแห้งบนต้นได้ การตัดยอดและใบข้าวโพดออกเป็นการเปิดหน้าดินให้พืชรุ่น 2 ได้รับแสงแดดโดยไม่ต้องรีบเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด การตัดยอดข้าวโพดหลังจากข้าวโพดออกไหมแล้ว 1 เดือน เป็นต้นไป ไม่ทำให้ผลผลิตลดลง

    ถ้าข้าวโพดไม่แก่เต็มที่ความชื้นจะยังสูง ทำให้กะเทาะเมล็ดยากเกิดบาดแผลได้ง่ายจึงควรปล่อยให้ข้าว โพดแห้งคาต้นก่อนจึงเก็บเกี่ยวโดยหักฝักข้าวโพดให้หัวห้อยลง วิธีจะป้องกันการเข้าทำลายของแมลงทางปลายฝักได้ และสามารถป้องกันความชื้นหรือน้ำที่ปลายฝักได้

    ข้าวโพดที่หักมาแล้ว ควรคัดฝักเสียออกไป เช่นฝักที่มีหนอนแมลงเจาะทำลายหรือฝักที่มีเชื้อราขึ้น จะทำให้เชื้อราไม่

    แพร่ระบาดไปยังฝักที่ดี แล้วจึงนำฝักที่ดีไปตากให้แห้งโดยเร็ว

    วิธีการเก็บเกี่ยว

    1. 1. เก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน

    1.1  วิธีการเก็บใช้ไม้ปลายแหลมแทงเปลือกบริเวณปลายฝัก  ต้องระวังอย่าให้โดนเมล็ดปอกเปลือกแล้วใส่ในตะกร้า หรือ กระสอบป่าน หรือวางกองไว้บนผ้าพลาสติกหรือใช้ซากต้นข้าวโพดรองพื้น

    1.2  เก็บเกี่ยวโดยหักข้าวโพดทั้งเปลือกแล้วจึงมาแกะเปลือกภายหลัง  หรือเก็บไว้ทั้งเปลือก  การเก็บเกี่ยววิธีนี้ทำได้เร็ว ช่วยป้องกันไม่ให้เมล็ดเกิดแผลหรือเมล็ดร้าวในระหว่างทำการเก็บเกี่ยวหรือขนย้าย  นอกจากนี้  เปลือกยังช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อรา  และแมลงสัมผัสเมล็ดโดยตรง  การเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน  ไม่ควรวางฝักข้าวโพดบนพื้นที่ชื้นแฉะ  อย่าโยนฝักข้าวโพดเพราะทำให้เกิดบาดแผลบนผิวของเมล็ดหรือเมล็ดร้าว  ทำให้เชื้อราเข้าทำลายเมล็ดได้ง่าย  ขณะเก็บเกี่ยว  ให้แยกฝักเน่าหรือมีเชื้อราเข้าทำลายออกจากฝักดี  และเผาทำลายฝักเน่าและฝักที่มีเชื้อรา

    1. 2. เก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องมือ

    การเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องมือ ได้แก่  เครื่องปลิดฝักข้าวโพด  (corn snapper)  เครื่องปลิดและรูดเปลือกหุ้มฝักข้าวโพด  (corn picker-husker)  และเครื่องเกี่ยวนวดข้าวโพด  (corn picker-Sheller  หรือ  corn combine harvester) เครื่องชนิดนี้จะปลิดฝักข้าวโพดจากต้นแล้วสีออกเป็นเมล็ด  การใช้เครื่องเก็บเกี่ยวมีข้อดีในกรณีขาดแคลนแรงงาน  ทำให้ค่าจ้างเก็บเกี่ยวสูง  สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว  และอาจทำให้ทันปลูกในฤดูฝน  แต่มีข้อเสียตรงที่ต้องเก็บเกี่ยวในพื้นที่ราบและสม่ำเสมอ  ต้นข้าวโพดหักล้มน้อย  ยังมีอัตราการสูญเสียเนื่องจากฝักเก็บเกี่ยวไม่หมด  และมีการแตกหักของฝักและเมล็ด  ทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย  นอกจากนี้ การเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ปลูกในต้นฤดูฝนอาจจะทำให้รถเข้าไปเก็บเกี่ยวได้ลำบากเพราะดินเปียกโดยเฉพาะรถเก็บเกี่ยวที่มีขนาดใหญ่  รถเก็บเกี่ยวยังมีราคาค่อนข้างแพง  และไม่คุ้มค่าที่เกษตรกรรายเล็กจะซื้อไว้ประจำฟาร์ม  จึงมีการจ้างเหมารถเก็บเกี่ยวโดยคิดราคาต่อกิโลกรัม  หรือจ้างเหมาเป็นไร่ในบางจังหวัด

     

    แหล่งที่มา : www.pioneer.com/web/site/thailand/resources/indiv-tech-sheets/

ส่งเสริมเกษตร (songsermkased)
  • 772/5-6 ถ.แจ้งสนิท(บ้านไผ่-บรบือ) ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 40110
  • 043-306244 , แฟกซ์ 043-306245